ความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

สร้างเมื่อ 15/08/2023 15:37

เครือข่ายการแพทย์พื้นบ้าน 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง : ความร่วมมือนานาชาติเพื่อขับเคลื่อนงาน

         การสร้างเครือข่ายด้านการแพทย์พื้นบ้านระหว่างประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงเกิดขึ้นจากการสร้างเครือข่ายหมอพื้นบ้านในภาคเหนือและขยายผลร่วมกับเครือข่ายหมอพื้นบ้านลุ่มน้ำโขงตอนบน ได้แก่ สิบสองปันนา ไทยใหญ่ และลาวล้านช้าง จนเกิดเป็นเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านและสมุนไพรลุ่มน้ำโขงตอนบน ซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าควรมีเวทีพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเป็นประจำ โดยหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ จึงเป็นจุดเริ่มต้นการประชุมการวิจัยและพัฒนาเครือข่ายหมอพื้นบ้านและสมุนไพรลุ่มน้ำโขงครั้งที่ 1 โดยเน้นประเด็นความหลากหลายของพันธุ์พืชสมุนไพรจากเครือข่ายพันธมิตร ซึ่งถือเป็นการระดมศักยภาพทางด้านพันธุ์พืชสมุนไพรที่เป็นประโยชน์สำหรับการแพทย์พื้นบ้าน

         การจัดประชุมครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในเวลาต่อมาที่ประเทศไทย โดยเน้นประเด็นประสบการณ์โดดเด่นของเครือข่ายหมอพื้นบ้านในแต่ละประเทศ โดยยังคงสมาชิกในเครือข่ายเดิมจาก 4 ประเทศ

         การจัดประชุมครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยโรงพยาบาลไตสิบสองปันนาร่วมกับสมาคมกาแพทย์พื้นบ้านจีนเป็นเจ้าภาพจัดงานที่เมืองจิ่งหง แคว้นสิบสองปันนา การประชุมครั้งนี้เน้นความหลากหลายขอภูมิปัญญาการแพทย์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในแถบลุ่มน้ำโขงตอนบน

         การประชุมครั้งที่ 4 จัดขึ้น ณ นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เน้นการผสมผสานระหว่างการแพทย์ชนเผ่าต่าง ๆ กับการแพทย์จีน และสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นในการประชุมนี้คือการเปิดกว้างสำหรับเครือข่ายมากขึ้น ซึ่งจากเดิมเครือข่ายพันธมิตรมีเพียง 4 ประเทศ ได้เพิ่มเป็น 6 ประเทศ โดยมีเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

         การประชุมครั้งที่ 5 จัดขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ.2555 ที่ประเทศไทย ภายใต้ชื่อการประชุมเครือข่ายหมอพื้นบ้านและสมุนไพรลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 5 โดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เน้นประเด็นความเป็นปึกแผ่นของเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านและสมุนไพรลุ่มน้ำโขง อันเป็นการเสริมความเข้มแข็งและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของการแพทย์ดั้งเดิมในกลุ่มประเทศอาเซียนโซนเหนือร่วมกับประเทศจีน และได้เสนอให้มีตัวแทนคณะกรรมการต่าง ๆ ได้แก่ เพื่อการพัฒนาด้านการแพทย์พื้นบ้าน ได้แก่ 1) คณะกรรมการวิชาการ 2) คณะกรรมการคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านและแหล่งพันธุกรรมสมุนไพร และ 3) คณะกรรมการความร่วมมือเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขง

         การประชุมครั้งที่ 6 จัดขึ้นที่เมืองลี่เจียง มณฑลยูนนาน ในครั้งนี้ได้มีมติให้แต่งตั้งตัวแทนจากแต่ละประเทศเป็นคณะกรรมการด้านต่าง ๆ 3 ด้าน โดยประเทศไทยได้เสนอผู้แทนประเทศเข้าร่วมในคณะกรรมการต่าง ๆ ดังนี้

  1. ศ.ดร.ภก.ชยันต์ พิเชียรสุนทร (ราชบัณฑิต) เป็นผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมการวิชาการ
  2. ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร เป็นผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมการคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านและแหล่งพันธุกรรมสมุนไพร
  3. ดร.ภญ.อัญชลี จูฑะพุทธิ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นคณะกรรมการความร่วมมือเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขง

         การแต่งตั้งคณะกรรมการและผู้แทนดังกล่าวทำให้เครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขงมีบทบาทในการสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน และสนับสนุนการให้บริการด้านสุขภาพ การศึกษาฝึกอบรม การคุ้มครองทรัพยากร การเพาะปลูกขยายพันธุ์สมุนไพร การศึกษาวิจัย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสืบทอดภูมิปัญญา ที่ชัดเจนมากขึ้น

         นอกจากนี้ในการประชุมครั้งที่ 6 ได้มีมติให้จัดการประชุมเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขงทุก 2 ปี

         การประชุมครั้งที่ 7 จัดขึ้นในประเทศไทย ในปี พ.ศ.2558 โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 7 ภายใต้แนวคิด “one community toward a sustainable region” ระหว่างวันที่ 1-3 กันยายน 2558   ณ ห้องฟินิกส์ 5-6 ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอิมแพค เมืองทองธานี กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ประเทศไทยได้จัดประชุมวิชาการระหว่างประเทศด้านการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ดั้งเดิม ในวันที่ 4-5 กันยายน 2558 ต่อเนื่องจากการประชุมเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 7 เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนการดำเนินงานวิชาการด้านการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ดั้งเดิม ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เชิญผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนด้านการแพทย์ดั้งเดิมเข้าร่วมประชุมอีกด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ สร้างความเข้มแข็งและขยายฐานเครือข่ายความร่วมมือ ด้านการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ดั้งเดิม ให้ครอบคลุมประเทศในภูมิภาคอาเซียน

กิจกรรมสำคัญในการประชุมเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้าน ลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 7 ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญ ดังนี้

         1) การประชุมเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนงานตามมติการประชุมเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 6 ณ เมืองลี่เจียง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีมติให้ประเทศสมาชิก ตั้งคณะทำงาน 3 ชุดประกอบด้วย 

                  1. คณะกรรมการประสานเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขง หรือ The Collaborative Network of Indigenous Medicine in the Greater Mekong sub – region

                  2. คณะกรรมการวิชาการเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขง หรือ The Academic Committee of the the Network

                  3. คณะกรรมการคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน และแหล่งพันธุกรรมสมุนไพร หรือ The core committee on the Protection of traditional Medical Knowledge and Medicinal Genetic Resources

         2) การแสดงบูทนิทรรศการของประเทศสมาชิก ร่วมกับ งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ

         3) การนำเสนอผลงานวิชาการระหว่างประเทศ

บทสรุป

         เครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขง เป็นรูปธรรมของการรวมกลุ่มของประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์ และระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำโขง ที่มีภูมิปัญญาการแพทย์ดั้งเดิม อันมีความอุดมสมบูรณ์ ของแหล่งพันธุกรรมสมุนไพร ในช่วงที่ผ่านมาประเทศสมาชิกมีการกำหนดวาระการขับเคลื่อนภารกิจตามยุทธศาสตร์ของแต่ละประเทศ จากข้อเสนอให้มีการตั้งคณะทำงาน 3 คณะ ดังกล่าวข้างต้น จะสามารถทำให้ คณะทำงานแต่ละคณะได้วางกรอบภารกิจของแต่ละด้านที่สำคัญ คือ 1) การกำหนด ทิศทาง นโยบาย 2) การพัฒนางานวิชาการด้านแพทย์พื้นบ้าน และ 3) การพัฒนาด้านการคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน และแหล่งพันธุกรรมสมุนไพร

ข้อมูลโดยกองการแพทย์พื้นบ้านไทย