ความร่วมมือระดับทวิภาคี

          กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้พัฒนาความร่วมมือด้านการแพทย์ดั้งเดิม การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก ในระดับทวิภาคีกับหลายประเทศ โดยมีความร่วมมือสำคัญระหว่างปี 2557-2559 ได้แก่

1. ความร่วมมือไทย-เมียนมา

          กระทรวงสาธารณสุขแห่งราชอาณาจักรไทย และสหภาพเมียนมา ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข เมื่อปี พ.ศ.2556 โดยมีความร่วมมือทั้งหมด 8 สาขา และกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเป็นผู้ประสานงานหลักในสาขาความร่วมมือด้านการแพทย์ดั้งเดิม  

        แผนการปฏิบัติงานร่วมกัน (Joint action plan) ระหว่าง พ.ศ.2556-2559 ภายใต้บันทึกความเข้าใจข้างต้น กำหนดกรอบร่วมมือด้านการแพทย์ดั้งเดิม ดังต่อไปนี้

        (1) การพัฒนาบุคลกรด้านการแพทย์ดั้งเดิม โดยการศึกษาดูงาน และการฝึกอบรม

        (2) การพัฒนาคุณภาพและการผลิตยาแผนดั้งเดิม โดยการศึกษาดูงาน และการฝึกอบรม

        (3) การพัฒนางานวิจัยด้านการแพทย์ดั้งเดิม โดยการทำวิจัยร่วมกัน

        (4) การเสริมสร้างขีดความสามารถ โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องกฎหมาย ข้อบังคับด้านการแพทย์ดั้งเดิม

2. ความร่วมมือไทย-ภูฎาน

        สืบเนื่องจากการเยือนราชอาณาจักรภูฎาน ของศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของราชอาณาจักรภูฎาน ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2559 เพื่อกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุขของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือความร่วมมือด้านสาธารณสุข และทบทวนบันทึกความเข้าใจ (MOU on Collaboration in Health Development) ที่ลงนามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 และจัดทำแผนปฏิบัติงานร่วมกันใน 4 สาขาความร่วมมือ โดยการแพทย์ดั้งเดิมเป็นหนึ่งในสาขาความร่วมมือดังกล่าว และมีกำหนดจัดทำบันทึกความเข้าใจฉบับปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560

        กระทรวงสาธารณสุขราชอาณาจักรภูฏาน จึงส่งเจ้าหน้าที่จากกรมบริการการแพทย์ดั้งเดิม (Department of Traditional Medicine Services) ราชอาณาจักรภูฏาน เข้าศึกษาดูงานและหารือความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 17-22 สิงหาคม 2559 โดยมีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเป็นผู้ประสานงาน

        กรมบริการการแพทย์ดั้งเดิม และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ร่วมกันจัดทำแผนความร่วมมือด้านการแพทย์ดั้งเดิม เพื่อเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขของแต่ละประเทศได้พิจารณาก่อนลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับปรับปรุงในปีปีงบประมาณ พ.ศ. 2560

3. ความร่วมมือไทย-อินเดีย

        เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2559 นายแพทย์สุริยะ วงศ์คงคาเทพ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก (ในขณะนั้น) ได้เดินทางไปเจรจาความร่วมมือด้านการแพทย์แผนดั้งเดิมและการแพทย์ทางเลือก: อายุรเวท / โยคะ / โฮมีโอพาธีย์ กับกระทรวงอายุช (Ministry of AYUSH) สาธารณรัฐอินเดีย โดยทั้งสองฝ่ายเห็นควรมีความร่วมมือ ในหัวข้อ ดังนี้

        (1) ด้านการเรียน การสอน การศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าด้านการแพทย์ทางเลือกทั้งสองประเทศ

        (2) ด้านการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ

        (3) ทุนการศึกษา

        (4) การพัฒนา pharmacopoeias and formularies

        (5) แลกเปลี่ยนเทคโนโลยี

        (6) การส่งเสริมเพื่อยกระดับการแพทย์แผนดั้งเดิมให้ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ

4. ความร่วมมือไทย-จีน

        กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีความร่วมมือกับรัฐบาลจีนหลายโครงการ โดยหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ประสานงานและดำเนินกิจกรรม คือ สถาบันการแพทย์ไทย-จีน โดยมีกิจกรรมความร่วมมือที่เด่นๆ เช่น

        การประชุมวิชาการไทย-เซี่ยงไฮ้ เป็นความร่วมมือทางวิชาการกับสำนักงานคณะกรรมาธิการสาธารณสุขและการวางแผนครอบครัวเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Municipal Commission of Health and Family Planning)ในการผลัดกันเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการด้านการแพทย์แผนจีน  เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ด้านการรักษาผู้ป่วยด้วยโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนและการแพทย์แผนดั้งเดิม ระหว่างนักวิชาการไทยและจีน และเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างไทยและจีน

        มาตรฐานการแพทย์แผนจีนในระดับนานาชาติ ISO/TC 249 Traditional Chinese
Medicine ประเทศไทยได้สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน(International Organization for Standardization, ISO) และในส่วนของการแพทย์แผนจีนได้จัดตั้งคณะกรรมการวิชาการใหม่ เรื่อง การแพทย์แผนจีน (ISO/TC 249) โดยมีการดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการ มีประเทศต่าง ๆ สมัครเข้าเป็นสมาชิกรวม 36 ประเทศ (ข้อมูล ณ ปี พ.ศ. 2559) เป็นสมาชิกประเภท P-member 21 ประเทศ และเป็นสมาชิกประเภท O-member 15 ประเทศ ในส่วนของประเทศไทย สถาบันการแพทย์ไทย-จีน กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้รับการแต่งตั้งจากสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุสาหกรรม ให้เป็นผู้แทนของประเทศไทยด้านการแพทย์แผนจีน โดยเป็นสมาชิกแบบ P-member (สามารถออกเสียงได้ในที่ประชุม)

        โครงการจัดทำพจนานุกรมศัพท์การแพทย์แผนจีน เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเฉิงตูและกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีวัตถุประสงค์ เพื่อประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนและเป็นคู่มือสำหรับแพทย์ฝังเข็ม แพทย์จีน และผู้สนใจทั่วไปใช้ศึกษาอ้างอิง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยดำเนินการจัดทำ “พจนานุกรมศัพท์การแพทย์แผนจีน (จีน-ไทย-อังกฤษ)” มีคำศัพท์ประมาณ 3,000 คำ ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่ใช้บ่อยทางคลินิก  

        โครงการจัดทำมาตรฐานสมุนไพรจีนที่ใช้บ่อยในประเทศไทย เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเฉิงตูและกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการควบคุมคุณภาพมาตรฐานสมุนไพรจีน และสนับสนุนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสมุนไพรจีนในประเทศไทย รวมทั้งให้บริการข้อมูลดังกล่าวแก่ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนจีน นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และประชาชนผู้สนใจ เนื้อหาในตำราเป็นการรวบรวมข้อมูลด้านวิชาการของสมุนไพรจีนในประเทศไทย จัดทำเป็น 3 ภาษา คือ ไทย จีน และอังกฤษ มีรายละเอียดเนื้อหาในหัวข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดมาตรฐานสมุนไพรตามเภสัชตำรับและตำรามาตรฐานของสาธารณรัฐประชาชนจีน 

(ข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อสถาบันการแพทย์ไทย-จีน)

เรียบเรียงโดย สำนักงานวิชาการแพทย์ดั้งเดิมระหว่างประเทศ