ความร่วมมือในกรอบบิมสเทค (BIMSTEC)

สร้างเมื่อ 15/08/2023 15:31
บิมสเทค (BIMSTEC: Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation:

หรือ “ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ) จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและสังคมระหว่างประเทศสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฏาน อินเดีย พม่า เนปาล ศรีลังกา และไทย

        สำหรับความร่วมมือด้านสาธารณสุข ประเทศไทยรับความไว้วางใจจากประเทศสมาชิกให้ทำหน้าที่เป็นประเทศนำ (lead country) ด้านสาธารณสุข โดยในปัจจุบัน มีเพียงความร่วมมือในสาขาการแพทย์ดั้งเดิมสาขาเดียวเท่านั้น ซึ่งในส่วนของการแพทย์ดั้งเดิมนั้นประเทศสมาชิกได้ตกลงให้มีการจัดตั้ง “เครือข่ายศูนย์ความร่วมมือด้านการแพทย์ดั้งเดิม” (Network of National Centers of Coordination in Traditional Medicine) ขึ้น และประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม BIMSTEC Meeting on the Network of National Centers of Coordination in Traditional Medicine ไปแล้ว 3 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2541, 2553 และ 2558 ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดแนวทางความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและพัฒนาการแพทย์ดั้งเดิมของประเทศสมาชิก

        กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการ (Secretariat office) ของเครือข่ายศูนย์ความร่วมมือด้านการแพทย์ดั้งเดิมของบิมสเทค และประเทศไทยเป็นประเทศนำด้านสุขภาพในกรอบความร่วมมือบิมสเทค กรมจึงได้จัดการประชุม The 3rd BIMSTEC Meeting on the Network of National Centers of Coordination in Traditional Medicine ขึ้น เมื่อวันที่ 20-22 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา เพื่อผลักดันกิจกรรมต่าง ๆ ตามกรอบแนวทางความร่วมมือของบิมสเทคที่ได้วางไว้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้การแพทย์ดั้งเดิมมีบทบาทในการดูแลสุขภาพของประชากรของประเทศสมาชิกบิมสเทค เพิ่มมากขึ้นต่อไป 

        ประชุมดังกล่าว ทำให้เกิด “คณะทำงานการแพทย์ดั้งเดิมบิมสเทค” (BIMSTEC Task Force on Traditional Medicine: BTFTM) และ “เครือข่ายศูนย์ความร่วมมือด้านการแพทย์ดั้งเดิมของบิมสเทค” (the BIMSTEC Network of National Centers of Coordination in Traditional Medicine: BNNCTM) อย่างเป็นทางการ เพื่อผลักดันให้การแพทย์ดั้งเดิมมีบทบาทในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมมากยิ่งขึ้น รวมถึงสนับสนุนความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการแพทย์ดั้งเดิมระหว่างประเทศสมาชิกบิมสเทค

        นอกจากนี้ สำนักเลขาธิการบิมสเทค (BIMSTEC Secretariat) ซึ่งเพิ่งมีการจัดตั้งในปี พ.ศ. 2557 ยังเข้ามามีบทบาทในการประชุมในฐานะเลขานุการของที่ประชุมเป็นครั้งแรก

BTFTM และ BNNCTM ได้แบ่งความร่วมมือในแผนความร่วมมือด้านการแพทย์ดั้งเดิมบิมสเทคออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่

        1. ระบบบริการและการรักษา (Practice and service system)

        2. บุคลากรด้านการแพทย์แผนดั้งเดิม (Practitioners)

        3. ผลิตภัณฑ์การแพทย์ดั้งเดิม (Products)

        4.การคุ้มครองผู้ปัญญาการแพทย์ดั้งเดิม (Protection of genetic resource and associated traditional knowledge)

        ทั้งนี้ บังคลาเทศได้รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม The 4th BIMSTEC Meeting on the Network of National Centers of Coordination in Traditional Medicine ในปี พ.ศ. 2560