ความร่วมมือด้านการแพทย์ดั้งเดิมกับองค์การอนามัยโลก

ยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์ดั้งเดิมขององค์การอนามัยโลก พ.ศ. 2557-2566

        ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกด้านการผสมผสานการ แพทย์ดั้งเดิมเข้าในระบบบริการสาธารณสุข ผู้แทนจากประเทศไทยจึงได้รับเชิญให้มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 10 ปี ขององค์การอนามัยโลกด้านการแพทย์ดั้งเดิม (นายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์) และ     ผศ.(พิเศษ) นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้รับเชิญเป็นผู้แทนของประเทศไทยไปร่วมงานเปิดตัว WHO Traditional Medicine Strategy 2014-2023 อย่างเป็นทางการในการประชุม WHO High Level Meeting on the Implementation of WHO Traditional Medicine Strategy: 2014-2023. ที่เขตปกครองพิเศษมาเก๊า สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 28-30 ตุลาคม 2556

        จุดเริ่มต้นของการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการแพทย์ดั้งเดิมขององค์การอนามัยโลกแห่งแรกในประเทศไทย

        ในระหว่างการประชุมดังกล่าว Dr. Zhang Qi ผู้ประสานงานด้านการแพทย์ดั้งเดิมขององค์การอนามัยโลก (WHO Traditional Medicine Coordinator) ได้ยื่นข้อเสนอให้ประเทศไทยพิจารณาว่ามีความสนใจที่จะให้มีการแต่งตั้งหน่วยงานด้านการแพทย์ดั้งเดิม (สถานศึกษา สถาบันวิจัย โรงพยาบาล) ในประเทศไทยที่มีศักยภาพและความพร้อมทั้งสถานที่ บุคลากร และงบประมาณให้เป็น WHO Collaborating Centre for Traditional Medicine (WCCTM) หรือไม่ ซึ่งกระบวนการแต่งตั้ง WCCTM ดังกล่าวจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี เพื่อแสดงผลงานความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกอย่างต่อเนื่อง ประกอบการประเมินในการแต่งตั้งให้เป็น WCCTM ได้แก่ การร่วมจัดทำเอกสารวิชาการด้านการแพทย์ดั้งเดิม เข่น WHO Benchmark for Practice in Nuad Thai, การร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศ และความร่วมมือด้านวิชาการและการวิจัย เป็นต้น ในปัจจุบัน เวียดนามเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มี WCCTM ได้แก่ National Hospital of Traditional Medicine ทื่กรุงฮานอย

        สืบเนื่องจากข้อเสนอดังกล่าว เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นำโดย ผศ.(พิเศษ) นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงได้ประชุมร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นำโดยศ.พญ.สุวรรณี สุรเศรณีวงศ์ รองคณบดี และองค์การอนามัยโลก ประกอบด้วย Dr. Yonas Tegegn ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย, Dr. Zhang Qi (WHO TM Coordinator – WHO Head Quarter) และ Dr. Kim Sung Chol (WHO TM Coordinator – WHO/SEARO) เพื่อวางแนวทางการดำเนินงานเพื่อการแต่งตั้งให้สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งมีความพร้อมทั้งด้านสถานที่ บุคลากร ในการเป็นสถานศึกษา สถานพยาบาล สถาบันวิจัยด้านการแพทย์แผนไทย ที่จะร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกในฐานะ WCCTM แห่งแรกในประเทศไทย โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจะทำหน้าที่สนับสนุนและประสานงานกับองค์การอนามัยโลกเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการยกระดับการแพทย์แผนไทยให้เป็นระบบการแพทย์ดั้งเดิมที่เป็นที่รู้จักในเวทีโลก และจากการให้ความร่วมมือทางวิชาการกับองค์การอนามัยโลกอย่างใกล้ชิด จะเป็นประโยชน์ในการนำมาพัฒนาการแพทย์แผนไทยต่อไป

การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การบูรณาการการแพทย์ดั้งเดิมในระบบบริการสาธารณสุขระหว่างประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO/SEARO) เพื่อกำหนดแนวทางการติดตามและประเมินผลการให้บริการการแพทย์ดั้งเดิม

  กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ส่งผู้แทน 3 คน ได้แก่ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย ผู้อำนวยการสำนักงานวิชาการการแพทย์ดั้งเดิมระหว่างประเทศ และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “WHO/SEAR Regional Workshop to share experiences and evidence on “Appropriate Integration of Traditional Medicine into National Health Care Systems” ระหว่างวันที่ 19 – 23 ตุลาคม 2558 ณ กรุงเปียงยาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี โดยมีวัตถุประสงค์

        (1) เพื่อพิจารณาทบทวนประสบการณ์และหลักฐานในปัจจุบันของการบูรณาการการแพทย์ดั้งเดิมเข้าในระบบสาธารณสุขของประเทศสมาชิก WHO/SEAR

        (2) เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับขอบข่ายงานด้านการติดตามและประเมินผลการให้บริการการแพทย์ดั้งเดิมทั้งในส่วนของบริการที่ให้ การใช้บริการ คุณภาพบริการ และความปลอดภัย

        (3) เพื่อเสนอแนะวิธีการที่จะพัฒนาการติดตามและประเมินผลการให้บริการการแพทย์ดั้งเดิมให้ดีขึ้น ทั้งนี้ ก่อนการประชุม แต่ละประเทศต้องส่งรายงานสถานการณ์การแพทย์ดั้งเดิมในประเทศของตน แนวทางและวิธีการติดตามและประเมินผล (M&E) บริการการแพทย์ดั้งเดิม ทั้งในด้านคุณภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการประชุม

ในการประชุมนี้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสองประเทศที่ได้นำเสนอประสบการณ์ด้าน M&E ของการแพทย์ดั้งเดิมถึง 2 เรื่อง ได้แก่

        (1) การใช้ “มาตรฐานโรงพยาบาลส่งเสริมและสนับสนุนการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน (มาตรฐาน รพ.สส.พท.)” ในการประเมินคุณภาพของบริการการแพทย์แผนไทยในสถานบริการสาธารณสุข

        (2) Real-time data collection system โดยการใช้ TTM health script เพื่อติดตามสถานการณ์การให้บริการการแพทย์แผนไทย โดยประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ใช้ระบบ ICT ติดตามการให้บริการการแพทย์ดั้งเดิมทั่วประเทศ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้ประเทศสมาชิกอื่นตื่นตัว และสนใจที่จะนำ ICT มาใช้ในระบบติดตามผลให้มากขึ้น

การพัฒนาชุดอ้างอิงมาตรฐานของตัวชี้วัดที่ใช้ประเมินด้านการแพทย์ดั้งเดิมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

        สืบเนื่องจากการประชุมที่เปียงยาง ต่อมาประเทศไทยโดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้รับเชิญจาก WHO/SEARO ให้เข้าร่วมการประชุม “Informal Consultation to develop a standard reference set of indicators to monitor traditional medicine in Member States of WHO South-EastAsia” ระหว่างวันที่ 10 – 11 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ณ สำนักงานองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรุงนิวเดลี โดยก่อนการประชุมประเทศไทยต้องให้ข้อมูลด้านการแพทย์ดั้งเดิมของประเทศ โดยตอบคำถามของร่างตัวชี้วัดต่าง ๆ ที่ WHO/SEARO ทำขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาชุดอ้างอิงมาตรฐานของตัวชี้วัดที่จะใช้ในการประเมินการดำเนินงานด้านการแพทย์ดั้งเดิมของประเทศสมาชิกในภูมิภาค โดยมีการยกร่างตัวชี้วัดจำนวนทั้งสิ้น 41 ตัวชี้วัด ตามวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ของยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์ดั้งเดิมขององค์การอนามัยโลก 4 ข้อ และผลลัพธ์ที่คาดหวังในแต่ละกลยุทธ์

        จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและปรึกษาหารือของผู้แทนประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม ที่ประชุมได้คัดเลือกตัวชี้วัดผลลัพธ์หลัก จำนวน 16 ตัวชี้วัด และตัวชี้วัดอ้างอิง จำนวน 24 ตัวชี้วัด ซึ่ง WHO/SEARO จะต้องส่งรายการตัวชี้วัดดังกล่าวพร้อมทั้งคำนิยามใน metadata ทั้งหมด ให้ประเทศสมาชิกทั้งหมดเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการใช้ตัวชี้วัดเหล่านั้นในการประเมินสถานการณ์การแพทย์ดั้งเดิมในด้านต่าง ๆ ในประเทศของตน เพื่อนำข้อเสนอแนะจากประเทศสมาชิกมาสรุปเป็นตัวชี้วัดหลักที่จะนำมาใช้จริงต่อไปในอนาคต

ข้อมูลโดย ดร.ภญ.อัญชลี จูฑะพุทธิ